วิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนด้วยตัวเองหรือเข้าศูนย์ดีกว่ากัน

4886

น้ำมันเครื่องเป็นเหมือนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่องที่ดีจะช่วยลดการสึกหรอและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากขาดน้ำมันเครื่องไปหล่อเลี้ยง เครื่องยนต์ก็จะได้รับความเสียหาย การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องจึงมีความจำเป็นต่อการใช้งานรถยนต์อย่างมาก

เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง

ซึ่งเราอาจไปทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์บริการ หรือนอกศูนย์บริการก็ได้ และเรายังสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตัวเองอีกด้วย ไม่ว่าจะไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ไหน ก็จะมีข้อดีข้อเสียกันไปคนละแบบ ก่อนอื่นเราไปดูวิธีตรวจเช็คว่ารถของเราถึงเวลาที่จะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องหรือยัง?

คำแนะนำในการตรวจเช็คน้ำมันเครื่องเบื้องต้น

• วัดระดับน้ำมันเครื่องในอ่างน้ำมัน โดยใช้ก้านวัด ซึ่งโดยปกติน้ำมันเครื่องจะมีระดับอยู่ระหว่าง อักษร F (ระดับสูงสุด) และอักษร L (ระดับต่ำสุด) หากน้ำมันเครื่องมีระดับต่ำกว่า L ก็ควรไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้แล้ว แต่หากยังไม่มีเวลาไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ก็ให้เติมน้ำมันเครื่องประเภทและรุ่นเดียวกันลงไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันเครื่องขาด

• เมื่อรถใช้งานไปได้ประมาณ 5,000 กิโล หรือใช้งานครบ 3 เดือน (หรือตามระยะที่กำหนด) ก็ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันได้แล้ว เพราะน้ำมันเครื่องจะเริ่มหนืดน้อยลง และคุณภาพก็ต่ำลงด้วย

• ควรตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่อง ประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และควรตรวจทุกครั้งก่อนเดินทางไกลๆ โดยสตาร์ทรถทิ้งไว้ 5 นาที แล้วดับเครื่อง 3 นาที จึงค่อยใช้ก้านวัด วัดระดับน้ำมันเครื่อง วิธีนี้จะเช็คได้ผลที่เที่ยงตรงที่สุด

เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ไหนดี ในการนำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เราสามารถเลือกใช้บริการจากศูนย์บริการหรือนอกศูนย์บริการก็ได้ ซึ่งแต่ละที่ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในศูนย์บริการ

ข้อดี
• ที่ศูนย์บริการไม่ได้แค่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้อย่างเดียว แต่จะตรวจเช็ครายการอื่นๆไปด้วย เช่น เช็คระบบเบรก ปรับตั้งสายพาน ตรวจเช็คช่วงล่าง ตรวจสภาพยาง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจเช็คตามระยะ โดยยึดคู่มือการใช้รถเป็นหลักว่าต้องตรวจอะไรบ้าง หากพบว่าบางจุดอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน ก็จะได้ทำไปทีเดียวเลย ไม่ต้องเสียเวลากลับมาทำอีก

  • ศูนย์บริการทุกที่จะใช้อะไหล่แท้ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เช่น ไส้กรองน้ำมัน หรือแหวนรอง จึงมั่นใจในคุณภาพของอะไหล่ได้
  • ในกรณีที่รถอยู่ในระยะประกัน ก็จะฟรีค่าบริการ เสียแต่ค่าอะไหล่ ซึ่งค่าใช้จ่ายอาจจะน้อยกว่า หรือพอๆกับการไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนอกศูนย์
  • ช่างในศูนย์บริการมีฝีมือมาตรฐาน เพราะได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีในเรื่องการบำรุงรักษาดูแลเครื่องยนต์ของรถยนต์แต่ละรุ่น จึงมีความชำนาญ และไว้วางใจในฝีมือได้
  • หากมีปัญหาใดๆ สามารถเคลมได้ในเวลาที่กำหนด

ข้อเสีย

  • มีคนใช้บริการเยอะ คิวยาว ทำให้เสียเวลามาก
  • หากพ้นระยะประกัน ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่าการไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนอกศูนย์
  • ศูนย์บริการบางแห่งอาจรับนักศึกษาฝึกงาน หรือใช้ช่างมือใหม่ อาจมีทักษะไม่พอ หรือไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไม่ได้มาตรฐาน เช่น เติมเกินหรือขาดไป ฯลฯ
  • การดูแลเอาใจใส่ลูกค้าบางครั้งทำไม่ได้ดีเท่าข้างนอก เพราะเป็นองค์กรใหญ่ ช่างทุกคนก็ล้วนเป็นแค่พนักงาน ส่วนร้านนอกศูนย์ส่วนใหญ่จะดูแลเอาใจใส่ลูกค้าเป็นพิเศษ เจ้าของกิจการมาดูแลด้วยตัวเอง บางร้านเจ้าของลงมือทำเองด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนอกศูนย์บริการ

ข้อดี

  • สะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลานาน
  • ร้านนอกศูนย์ส่วนใหญ่ จะดูแลเอาใจใส่ลูกค้าค่อนข้างมาก (แต่ก็ไม่เสมอไปทุกร้าน)
  • ช่างตามร้านนอกศูนย์ จะมีประสบการณ์ที่สูงกว่า เพราะเจอมาหลากหลาย โอกาสผิดพลาดค่อนข้างน้อย (แต่ก็ไม่เสมอไปทุกร้าน)
  • ร้านนอกศูนย์บางแห่ง มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าในศูนย์บริการ
  • ค่าบริการ ส่วนใหญ่จะถูกกว่าในศูนย์บริการ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

ข้อเสีย

  • เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอย่างเดียว ไม่ได้ตรวจเช็คระบบอื่นให้
  • อะไหล่มักแนะน้ำให้ใช้ของเทียม เพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นการเอาใจลูกค้าอีกทาง
  • หากเกิดความผิดพลาด จะเคลมไม่ได้ (บางร้านก็ยอมให้เคลม)

วิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตัวเอง

การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ยากอย่างที่คิด ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีก็เสร็จ ใช้เพียงเครื่องมือบางอย่าง และเข้าใจขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้คุณอย่างมากในระยะยาว

การเตรียมน้ำมันเครื่องและอุปกรณ์ที่จำเป็น

  • เลือกประเภทน้ำมันเครื่องว่าจะใช้ น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ หรือน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ และจะใช้ยี่ห้อไหน โดยปกติจะใช้น้ำมันเครื่องประมาณ 4-6 ลิตร (ตรวจสอบจากคู่มือรถยนต์)
  • ตัวกรองน้ำมันเครื่อง (ตรวจสอบจากคู่มือรถยนต์)
  • อุปกรณ์ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
  • แม่แรงยกรถ และขาตั้งรับรถ
  • ประแจกระบอก สำหรับเปิดท่อระบาย
  • ประแจถอดตัวกรองน้ำมัน
  • ภาชนะรองน้ำมัน และกรวยพลาสติก
  • ถุงมือยาง และแว่นนิรภัย
  • ผ้าเช็ดมือ

ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง

  • เตรียมรถให้พร้อม จดรถบนพื้นราบ ดับเครื่องยนต์ และใส่เบรกมือ ปล่อยให้เครื่องเย็นลงซักพัก ใช้แม่แรงยกรถขึ้น และใช้ขาตั้งช่วยรองรับ อย่าเข้าใต้ท้องรถโดยไม่มีขาตั้งรองรับ เพราะลำพังแม่แรงอย่างเดียวอาจไม่มั่นคงพอ
  • เปิดฝาครอบน้ำมัน (ตรวจสอบตำแหน่งจากคู่มือรถยนต์) ขั้นตอนนี้สำคัญ เพราะน้ำมันจะไม่ยอมไหลออกหากเป็นสูญญากาศ
  • หาตำแหน่งรูถ่ายน้ำมันเครื่อง มีลักษณะเป็นน๊อตเกลียว อยู่ด้านล่างสุดของอ่างน้ำมันเครื่อง
  • วางภาชนะรองน้ำมันไว้ใต้รูถ่ายน้ำมันเครื่อง และถอดน๊อตที่ท่อระบายออก เพื่อถ่ายน้ำมันเก่าลงในภาชนะ (อาจใช้เวลาหลายนาที) ระวังอย่าโดนน้ำมัน เพราะน้ำมันอาจยังร้อนอยู่ และระวังอย่าให้น๊อตตกลงในภาชนะด้วย
  • หาตำแหน่งตัวกรองน้ำมัน (ตรวจสอบตำแหน่งจากคู่มือรถยนต์) ใช้ประแจถอดตัวกรองน้ำมัน โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา ตัวกรองจะมีน้ำมันอยู่เต็ม ต้องค่อยๆถอดอย่าให้น้ำมันหกหรือกระเด็นใส่ตัว
  • ใส่ตัวกรองใหม่ โดยทาน้ำมันบางๆบนปะเก็นของตัวกรองอันใหม่ แล้วค่อยๆขันตัวกรองอันใหม่ให้เข้าที่ด้วยมือ อย่าขันแน่นจนเกินไป แล้วเอาน๊อตตัวเดิมขันให้แน่นอีกทีด้วยประแจ
  • ในกรวยวาง และค่อยๆเติมน้ำมันเครื่องใหม่ลงไป ระวังอย่าให้หก และคอยวัดระดับน้ำมันด้วยก้านวัดในการเติมทุก 2 ลิตร
  • เมื่อเติมน้ำมันเครื่องได้รับที่ถูกต้องแล้ว ก็ปิดฝาเครื่อง และสตาร์ทรถทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นดับเครื่องแล้วตรวจสอบระดับน้ำมันอีกที หากระดับน้ำมันลดลงก็เติมน้ำมันเครื่องเพิ่มเข้าไป

การกำจัดน้ำมันเครื่องเก่าอย่างถูกวิธี

น้ำมันเครื่องเก่าที่ถ่ายออกมาจากรถ ห้ามทิ้งลงในท่อระบายน้ำเพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังก่อให้เกิดมลพิษในน้ำด้วย ควรหาภาชนะที่ปิดได้สนิทใส่น้ำมันเครื่องเก่า และเขียนฉลากกำกับไว้ จากนั้นนำไปที่สถานีบริการน้ำมัน หรือศูนย์รีไซเคิล ซึ่งเขาจะรับน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อมูลเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอื่นๆ
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง : shell.co.th
ระยะเวลาที่สมควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง : yukonlubricants.com

Previous articleน้ำมันเครื่อง เลือกอย่างไรให้ถูกต้องกับรถของคุณ
Next articleริมฝีปากแห้ง แตกเป็นขุย รักษาได้ด้วยตัวเอง