น้ำมันเครื่อง เลือกอย่างไรให้ถูกต้องกับรถของคุณ

1409

รถยนต์ที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนทุกวันนี้ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนถึงจะวิ่งได้ แต่การใช้งานก็ต้องมีชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ เกิดการสึกหรอไปกับการใช้งานด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสารหล่อลื่นเพื่อช่วยลดการสึกหรอ รวมทั้งช่วยลดอุณหภูมิจากแรงเสียดทานของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เสียหาย สารหล่อลื่นที่ว่านี้ก็คือ น้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์นั่นเอง

น้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องทำงานยังไง?

ระบบการหล่อลื่นเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่องจะถูกส่งจากแรงดันของปั๊ม ผ่านไส้กรองไปยังท่อรวมใหญ่ ไหลผ่านไปยังแบริ่ง เพลา และลูกเบี้ยว น้ำมันเครื่องจะไหลผ่านรูในเพลาข้อเหวี่ยงไปยังก้านสูบและสลักสูบอีกต่อหนึ่ง เพื่อเข้าไปหล่อลื่นผนังกระบอกสูบและแหวน น้ำมันเครื่องอีกส่วนนึงจะแบ่งไปหล่อลื่นแบริ่งเพลาราวลิ้นและกลไกเปิดปิดลิ้น

หน้าที่ของน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้กับรถยนต์ หากรถขาดน้ำมันเครื่อง ก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องยนต์ได้ ซึ่งโดยทั่วไปน้ำมันเครื่องจะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

• ช่วยในการหล่อลื่นและผนึกแหวนสูบเพื่อป้องกันกำลังอัดรั่ว

• ช่วยระบายความร้อนในเครื่องยนต์

• ลดการสึกหรอ

• ทำให้เครื่องยนต์สะอาด

• ป้องกันการกัดกร่อนและเกิดสนิม

ประเภทของน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องที่ใช้ๆกันอยู่ จะแบ่งตามประเภทของการผลิตซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเภทคือ

1.น้ำมันเครื่องทั่วไป จะผลิตจากน้ำมันแร่ ซึ่งเป็นกระบวนการทางปิโตรเลียมของการกลั่นน้ำมันดิบโดยตรง จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3,000 – 5,000 กิโล

2.น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Synthetic) เป็นน้ำมันปิโตรเลียม ที่นำมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีเพื่อให้น้ำมันมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ซึ่งคุณสมบัติที่เด่นๆก็คือ มีความคงทนต่อการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ มีอัตราการระเหยต่ำ และลดการสิ้นเปลือง จึงมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 5,000 – 7,000 กิโล

3.น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-Synthetic) จะเอาน้ำมันเครื่องสังเคราะห์มาผสมกับน้ำมันแร่ เพื่อทำให้น้ำมันเครื่องชนิดนี้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าน้ำมันเครื่องทั่วไป แต่มีราคาถูกกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 7,000 – 10,000 กิโล

เลือกน้ำมันเครื่องยังไงให้เหมาะสมกับรถเรา

การเลือกใช้น้ำมันเครื่องไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งานเป็นหลักว่าคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายหรือไม่ ซึ่งโดยปกติน้ำมันเครื่องสังเคราะห์จะมีระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องทั่วไป แต่ก็ต้องจ่ายแพงมากขึ้น สำหรับน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ และมีราคาที่ถูกกว่า แต่ก็ต้องแลกด้วยคุณภาพที่ด้อยกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์

การพิจารณาว่าควรจะใช้น้ำมันเครื่องประเภทใด

ควรดูจากการใช้งานของรถคุณเอง หากต้องวิ่งระยะทางไกลบ่อยๆ หรือบรรทุกหนัก มีโอกาสที่เครื่องยนต์จะสึกหรอได้มาก ก็ควรเลือกน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ หากวิ่งในสภาวะปกติ ระยะทางไม่มาก ไม่ได้บรรทุกหนัก ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์

ข้อควรระวัง

เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ มักใช้คำ Synthetic ที่กำกวม เช่น Synthetic Technology, Synthetic Performance, Synthetic Guard, Syntec หรือ Synthetic Based ฯลฯ ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% หรือเป็นน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์กันแน่ ซึ่งบางชนิดก็เป็นน้ำมันเครื่องธรรมดา แต่ใช้คำว่า Synthetic เพื่อสื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบอื่นๆในน้ำมันเครื่องที่ไม่ใช่ Base Oil

จุดสังเกต

เวลาเราไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100 % จะมีคำว่า Fully Synthetic อยู่บนฉลาก ส่วนน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ จะมีคำว่า Semi-Synthetic หรือ Partial-Synthetic ถ้าให้ดีที่สุดควรอ่านฉลากที่เป็นข้อความภาษาไทยประกอบด้วย

เมื่อไหร่ที่ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง

รถยนต์แต่ละคัน มีเครื่องยนต์ที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีสภาพการใช้งานที่แตกต่างกันไปด้วย การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องควรปฏิบัติตามหนังสือคู่มือรถ ในกรณีที่ใช้ตามสภาพการใช้งานปกติ แต่หากมีการใช้งานที่หนักมากขึ้น เช่น มีการบรรทุกหนัก อยู่ในสภาพการจราจรที่ติดขัดเป็นประจำ การระบายความร้อนไม่ดี อยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก หรือใช้เชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ กำหนดเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันก็จะเร็วขึ้น

ข้อมูลน้ำมันเครื่องที่น่าสนใจอื่นๆ
การใช้คำว่าสังเคราะห์ หรือ SYNTHETIC กับน้ำมันเครื่อง : doeb.go.th
น้ำมันเครื่อง สำหรับรถยนต์ และน้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรม : yukonlubricants.com

Previous articleตารางอาหารลดน้ำหนัก ลดจริง ลดเร็ว ลดภายใน3วัน
Next articleวิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนด้วยตัวเองหรือเข้าศูนย์ดีกว่ากัน