พลังงานทดแทน พลังงานที่ช่วยแก้วิกฤติโลก

745

ในปัจจุบันเริ่มมีภาวะขาดแคลนทางด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพราะพลังงานถูกใช้ไปเรื่อยๆ หากไม่รีบหาพลังงานมาทดแทน ซักวันอาจทวีความรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ พลังงานที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นพลังงานที่ได้จากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม หรือแก๊สธรรมชาติ ซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง สร้างภาวะเรือนเรือนกระจกและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกก็ได้มีการรณรงค์ให้ใช้ พลังงานทดแทน กันมากขึ้น

พลังงานทดแทน

พลังงานทดแทนคืออะไร

พลังงานทดแทน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พลังงานทางเลือก” เป็นพลังงานที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำมาเวียนใช้ทดแทนพลังงานที่ใช้กันในปัจจุบันได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต และช่วยลดปัญหาด้านมลพิษ

พลังงานทดแทนจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ

1. พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ

2. พลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานทางชีวภาพ ฯลฯ

รูปแบบของพลังงานทดแทน

เราสามารถนำพลังงานที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมๆได้ ซึ่งการนำมาพลังงานมาใช้ ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น

พลังงานน้ำ รูปแบบของการนำมาใช้ คือ สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ในที่สูง และปล่อยน้ำให้ไหลลงมาตามท่อเข้าสู่กังหันน้ำ เพื่อผลักดันกังหันน้ำให้หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ปัจจุบันก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ฯลฯ

พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ มีรูปแบบการนำมาใช้อยู่ 2 ทาง คือ

1. เปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้แผงโซล่าเซลล์รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และเปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกที

2. ใช้พลังงานความร้อนโดยตรง โดยให้แสงจากดวงอาทิตย์ส่องผ่านแผ่นรับแสงและตกกระทบมายังพื้นสีดำ ทำให้เกิดความร้อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ เช่น การผลิตน้ำร้อน การอบแห้งพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ

พลังงานชีวภาพ เป็นพลังงานที่ได้มาจากสิ่งมีชิวิต เช่น ต้นไม้ มูลสัตว์ หรือแม้กระทั่งขยะ มีรูปแบบในการนำมาใช้ได้ 2 ลักษณะ คือ

1.แปรรูปให้เป็นความร้อน เช่น การทำฟืน ถ่านไม้ การนำเอาพืชหรือวัชพืชมาสับแล้วอัดเป็นแท่งตากแดดหรืออบให้แห้ง ก้อนวัชพืชจะจุดติดไฟได้ง่ายและให้ความร้อนสูง

2.แปรรูปให้เป็นพลังงานอื่นๆ เช่น การนำมูลสัตว์หรือขยะมาหมักจนเกิดกระบวนการย่อยสลายทางอินทรีย์ ซึ่งจะได้แก๊สชีวภาพสามารถนำไปใช้หุงต้ม จุดตะเกียง หรือปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้พืชจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อย ข้าวโพด ก็สามารถนำมาผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ได้

พลังงานลม ในประเทศไทยมีกระแสลมพัดเฉลี่ยระดับกลางถึงต่ำ เราสามารถนำพลังงานจากลมมาใช้หมุนกังหันสูบน้ำ หรือกังหันลมเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกที สำหรับกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะตั้งอยู่ที่ อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

พลังงานความร้อนจากใต้ดิน มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเกิดเป็นแนวรอยเลื่อน ทำให้น้ำบางส่วนไหลซึมลงไปสะสมในใต้ผิวโลก และได้รับความร้อนจากชั้นหินจนกลางเป็นน้ำร้อนและไอน้ำ เช่น น้ำพุร้อน หรือโคลนเดือด เราสามารถนำเอาน้ำพุร้อนมาใช้ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อีกที

ในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะศึกษาและพัฒนาพลังงานที่ได้จากธรรมชาติมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆมากมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแบบเดิมและช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายมากจนเกินไป และพลังงานทดแทนก็เป็นทางเลือกที่สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤติด้านพลังงานในอนาคต

ข้อมูลพลังงานทดแทนอื่นๆ
พลังงานทดแทน วิกฤตการณ์และทางออกด้านพลังงาน : ku.ac.th
การประยุกต์หลักการของเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ที่บ้าน : energysavingmedia.com

Previous articleอาหารแคลอรี่ต่ำ แค่กินก็ลดความอ้วนได้แล้ว
Next articleการทำสีผม ด้วยตัวเองง่ายๆที่บ้านเพียงไม่กี่ขั้นตอน