โรคติดเกมคืออะไร มีอาการอย่างไร

1

เกมส์เป็นของคู่กันกับเด็กมานานแล้ว การเล่นสมัยก่อนเด็กจะเล่นกับเพื่อน พ่อแม่ แต่ปัจจุบัน เด็กๆจะเล่นเกมส์ผ่านมือถือ จนบางคนไม่ยอมเลิก ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ก่อให้เกิด “โรคติดเกม” ซึ่งผลเสียต่อเด็กเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่เองควรทำความเข้าใจและเตรียมรับมือหากลูกติดเกม

โรคติดเกมคืออะไร 

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้การติดเกมเป็นโรคชนิดหนึ่ง (Gaming disorder) เป็นอาการทางจิตที่รุนแรงและต้องได้รับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดเกมออนไลน์ หรือ วิดีโอเกม การเล่นจนติดเกมแตกต่างจากการเล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเล่นเป็นงานอดิเรก คือ ผลกระทบที่เกิดจากการติดเกมเป็นผลทางด้านลบ ผู้เล่นไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องเล่นอย่างต่อเนื่องและะยะเวลาการเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจการทำกิจกรรมอื่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าประเทศไทยปัญหาเด็กติดเกมอย่างหนัก และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี 

สาเหตุของการติดเกม 

ในเชิงวิทยาศาตร์ชี้สาเหตุการติดเกม เนื่องจากสมองจะหลั่งสารสื่อประสาทโดพามีน (Dopamine) ออกมาขณะที่เจอเหตุการณ์ที่มีความสุขหรือน่าตื่นตัว โดยขณะที่เล่นเกม สมองจะหลั่งโดพามีนออกมามากกว่าขณะที่ไม่ได้เล่นเกมถึง 2 เท่า คนที่ติดเกมจึงมักจะอยากเล่นเกมต่อเรื่อย ๆ เนื่องจากเสพติดความรู้สึกตื่นตัวและมีความสุขจากการเล่นเกม ทั้งนี้ โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดโรคเสพติดอื่น ๆ เช่น การติดสารเสพติด ติดสุรา และติดการพนัน 

อาการของโรคติดเกมคือ? 

ทางการแพทย์มีเกณฑ์วินิจฉัยโรคติดเกมไว้ โดยสามารถประเมินจากอาการทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้ ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน  

1.มีความคิดที่หมกมุ่นแต่เรื่องการเล่นเกม  

2.ต้องการจะเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ 

3.เมื่อถูกบังคับไม่ให้เล่นหรือหยุดเล่น จะมีอาการหงุดหงิด  

4.พยายามจะลดหรือหยุดการเล่นเกม แต่ไม่สามารถทำได้เอง 

5.มีการปิดบังการเล่นเกมของตัวเอง 

6.สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบน้อยลง เช่น เล่นกีฬา ดูทีวี เอาเวลาไปใช่ในการเล่นเกมมากขึ้น 

7.ยังมีการเล่นเกมมาก ทั้ง ๆ ที่ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกม 

8.ใช้การเล่นเกมเพื่อจัดการความเครียด อารมณ์วิตกกังวล เบื่อเศร้า 

9.เกิดผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือพลาดโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ ในชีวิต 

การติดเกมของเด็กส่งผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน และหากผู้ปกครองสังเกตว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้พัฒนาการของลูกล่าช้าและถูกทำลาย

Previous articleการสร้างซิกซ์แพคสวยๆ ด้วยฝีมือแพทย์
Next articleอยากอ่อยแต่เป็นคนติดกวน ก็ใช้แคปชั่นอ่อยกวน ๆ ไปเล้ย